ความต้องการโกโก้ และสถานการณ์ตลาด

ความต้องการใช้

        ยุโรปเป็นผู้นำในการแปรรูปโกโก้ ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ของอุตสาหกรรมแปรรูปอยู่ในยุโรป และเมล็ดโกโก้จากทั่วโลกประมาณ 614,000 ตัน หรือ 13 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณเมล็ดโกโก้ที่ผลิตได้ทั่วโลก ถูกนำมาแปรรูปให้เป็นโกโก้แบบก้อน (cocoa paste) เนยโกโก้ (cocoa butter) ผงโกโก้ (cocoa powder) ช็อคโกแลต และผลิตภัณฑ์โกโก้อื่น ๆ      

        นอกจากยุโรปเป็นผู้ผลิตหลักแล้วยังเป็นผู้บริโภคโกโก้อันดับ 1 ด้วย โดยมีการบริโภคประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์ รองลงมา คือ อเมริกา บริโภคผลิตภัณฑ์จากโกโก้มากที่สุด 797,000 ตัน มากกว่าปริมาณบริโภคของเยอรมนี (347,000 ตันต่อปี) รวมกับฝรั่งเศส (228,000 ตันต่อปี)

ราคาตลาดโลก

        ราคาตลาดโกโก้ทั่วโลกมีมูลค่า 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการโกโก้ออร์กานิกหรือการปลูกโกโก้ที่ยั่งยืนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยการเปิดตัวตัวแปรใหม่ ตลาดคาดว่าจะเห็นการเติบโตต่อไปในช่วงคาดการณ์ของปี 2564-2569 ซึ่งเติบโตที่ CAGR 3.4 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าจะสูงถึง 13,520 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2569      

        อุตสาหกรรมโกโก้ แบ่งเป็นอุตสาหกรรมเนยโกโก้ โกโก้ผง และโกโก้เหลว หากแบ่งตามการใช่โกโก้ในอุตสาหกรรมแปรรูป จะแบ่งออกเป็นการผลิตเครื่องสำอาง ยา อาหาร เครื่องดื่มและขนม ตลาดระดับภูมิภาคที่สำคัญสำหรับผลิตภัณฑ์ ได้แก่ อเมริกาเหนือ ยุโรป เอเชียแปซิฟิก ละตินอเมริกา ตะวันออกกลางและแอฟริกา ผู้ที่มีบทบาทในตลาดข้างต้น ได้แก่ Olam International, Cargill Inc., Barry Callebaut, Cemoi Group, Cocoa Processing Company Limited, Nestle S.A. เป็นต้น

สถานการณ์โกโก้โลก

         เมล็ดโกโก้แห้ง (cocoa bean) เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตช็อกโกแลต โกโก้ผง (cocoa powder) และเนยโกโก้ (cocoa butter) ในปีการเพาะปลูก 2563/2564 ผลผลิตเมล็ดโกโก้ทั่วโลกคาดว่าจะสูงถึง 4.8 ล้านตัน (Shahbandeh, 2021) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ราคาเมล็ดโกโก้สูงกว่าสองดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม      

        โกโก้เป็นพืชพื้นถิ่นแถบอเมริกา มีต้นกำเนิดจากแถบอเมริกากลาง รวมถึงบางส่วนของเม็กซิโก ปัจจุบันพื้นที่ปลูกโกโก้เกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ ของโลก อยู่ในแอฟริกา ในปี 2561/2562 ผลผลิตโกโก้ในแอฟริกามีประมาณ 3.6 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าครึ่ง หรือประมาณ 2 ล้านตัน ผลิตในประเทศไอวอรี่โคสท์(โกตดิวัวร์)     

        ประเทศเนเธอร์แลนด์และไอวอรี่โคสท์มีการแปรรูปเมล็ดโกโก้รายใหญ่ที่สุดสองรายของโลก โดยในปี 2562 ไอวอรี่โคสท์แปรรูปเมล็ดโกโก้ประมาณ 614,000 ตัน ในขณะที่ปี 2563 ตลาดการแปรรูปโกโก้ทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 4.5 ล้านตัน และคาดว่าภายในป้ 2568 จะสูงถึง 4.76 ล้านตัน เฉพาะในยุโรปมีการแปรรูปเมล็ดโกโก้เกือบ 1.38 ล้านตันในปี 2563 (Shahbandeh, 2021)

สถานการณ์โกโก้อาเซียน

        จากรายงานของชมรมโกโก้อาเซียน (ASEAN Cocoa Club, 2019) ในปี พ.ศ.2561/2562 กลุ่มประเทศอาเซียนผลิตโกโก้ได้เป็นอันดับ 4 ของโลก หรือคิดเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ ของผลผลิตโกโก้ของโลก (ผลิตได้ 237,000 ตัน) การแปรรูปโกโก้ (cocoa grinding) ของกลุ่มประเทศอาเซียน ขยายตัว 17.9 เปอร์เซ็นต์ ของผลผลิตโลก (ผลิตได้ 852,000 ตัน) และตลาดช็อกโกแลตในอาเซียนโตขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์      

        ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การผลิตโกโก้ในอาเซียนทั้ง อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งต่างก็ได้ปรับเปลี่ยนไป (อัทธิ, 2561) อินโดนีเซีย มีปริมาณการผลิตโกโก้ลดลงจาก 8.5 แสนตัน ปี 2552 เหลือ 2.9 แสนตัน ในปี 2560 และใช้กลไกปรับขึ้นภาษีสูงออกเมล็ดโกโก้เป็น 15 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ลดการสูงออกเมล็ดโกโก้เป็นวัตถุดิบ และส่งเสริมให้เกิดมูลค่าเพิ่ม แปรรูปโกโก้เพื่อการส่งออก ในขณะที่มาเลเซีย มีพื้นที่ปลูกลดลงจาก 2.5 ล้านไร่ เหลือ 1 แสนไร่ ทั้งที่มีเป้าหมายเป็น "King of Chocolate in Asia" รัฐบาลจึงบรรจุใน "National Commodity Policy 2554-2563" และมีเป้าหมายว่าต้องเพิ่มผลผลิตเป็น 60,000 ตันต่อปี และเพิ่มพื้นที่ปลูกเป็น 2.5 แสนไร่ ผลผลิตต่อไร่เพิ่มจาก 192 กก./ไร่ เป็น 240 กก./ไร่ และรัฐยังสนับสนุนงบประมาณในการปลูกและให้ปัจจัยการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ส่วนฟิลิปปินส์ ปี 2559 มีผลผลิตเมล็ดโกโก้ 8,000 ตันและ มีนโยบายการผลิตโกโก้ที่ยั่งยืน โดยมีแผนปฏิบัติการอุตสาหกรรมโกโก้แห่งชาติ(Cocoa Industry Roadmap 2017 - 2022) ส่งเสริมการปรับปรุงสวนโกโก้ให้มีผลผลิตต่อเนื่องและรายได้ที่ยั่งยืนสอดคล้องกับนโยบายความมั่นคงทางอาหารและลดความยากจนของประเทศ และได้พัฒนาทักษะและความสามารถของเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ โดยการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่เกษตรกร ส่วนเวียดนามปลูกโกโก้ 1.5 แสนไร่ ปี 2555 มีผลผลิต 70,000 ตัน พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ทางตอนใต้ สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงเป้าหมายจะขยายพื้นที่ปลูกเป็น 500,000 ไร่ ในปี 2563

สถานการณ์การผลิตโกโก้ของไทย

        โกโก้เป็นพืชที่กลับมาได้รับความนิยมและมีการปลูกเพิ่มขึ้นในประเทศไทย ปัจจุบันเกษตรกรให้ความสนใจปลูกโกโก้มากขึ้นด้วยหวังว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้เสริมจากพืชหลัก โดยตั้งแต่ปี 2560/2561 มีการส่งเสริมการปลูกโกโก้โดยภาคเอกชนในรูปแบบการทำเกษตรพันธสัญญา ทำให้พื้นที่ปลูกโกโก้เพิ่มขึ้นจากเดิม และมีการขยายพื้นที่ปลูกไปภาคอื่น ซึ่งเดิมมีการปลูกโกโก้ในเชิงเศรษฐกิจในภาคใต้และภาคตะวันออกเท่านั้น จากข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตรเนื้อที่ยืนต้นเพิ่มขึ้นจาก 251 ไร่ ในปี 2560 เป็น 5,912.75 ไร่ ในปี 2563 ส่วนเนื้อที่เก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้นจาก 36 ไร่ ในปี 2560 เป็น 401.5 ไร่ ในปี 2563 และมีจำนวนครัวเรือนเกษตรกร 1,361 ราย แต่ปริมาณผลผลิตยังไม่มากนัก เนื่องจากโกโก้ที่ปลูกยังไม่ได้ให้ผลผลิต พื้นที่ปลูกหลักได้แก่ จังหวัดขอนแก่น จันทบุรี เชียงราย นครศรีธรรมราช และประจวบคีรีขันธ์ ตามลำดับ

สถานการณ์ด้านการตลาด

        ปริมาณผลผลิตโกโก้ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ของโรงงานแปรรูป เช่น แปรรูปช็อกโกแลต โกโก้ผง ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและเครื่องสำอาง โดยความต้องการบริโภคช็อกโกแลตของคนไทยอยู่ที่ 120 กรัมต่อคนต่อปี เมื่อเทียบกับเบลเยี่ยม 8 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งถือว่าตลาดโกโก้ในไทย มีโอกาสขยายตัวเนื่องจากปัจจุบันโรงงานส่วนใหญ่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ การปลูกโกโก้ในปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่จะทำสัญญาซื้อขายผลผลิตกับบริษัทแปรรูปซึ่งจะมีราคาประกันขั้นต่ำ โดยบริษัทแปรรูปจะส่งเสริมการปลูกในลักษณะเกษตรพันธสัญญา เมื่อซื้อต้นพันธุ์แล้วจะรับซื้อผลผลิต ราคาที่รับซื้ออ้างอิงราคาตลาดโลก โดยบริษัทรับซื้อในรูปของผลสด ราคาประกันขั้นต่ำกิโลกรัมละ 5 บาท แต่อาจได้ถึง 8-10 บาทสำหรับเกษตรกรที่ไม้ได้ทำสัญญาซื้อขายกับบริษัทจะขายผลสดหรือเมล็ดแห้ง แปรรูปจากเมล็ดโกโก้แห้งเป็นผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลต เป็นผลิตภัณฑ์โอทอป (สถาบันวิจัยพืชสวน, 2563)

สถานการณ์การส่งออกและนำเข้าโกโก้ของประเทศไทย

การส่งออก      
          ประเทศไทยส่งออกโกโก้และของปรุงแต่งที่ทำจากโกโก้ ในปี 2559 เป็น 23,061 ตัน และ ในปี 2563 ส่งออกได้ 22,876 ตัน โดยในช่วงปี 2559-2563 (5 ปี) ประเทศที่ไทยส่งออกมากเป็นอันดับหนึ่ง คือญี่ปุ่น มีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 36.74 ของปริมาณทั้งหมด รองลงมาได้แก่ จีนและเมียนมา
การนำเข้า      
          ในช่วง 5 ปี (พ.ศ.2559-2563) ประเทศไทยนำเข้าเมล็ดโกโก้และของปรุงแต่ง เพิ่มขึ้นจาก 38,807.8 ตันในปี 2559 เป็น 42,473 ตัน ในปี 2563 โดยในปี 2563 ประเทศที่ไทยนำเข้าโกโก้และของปรุงแต่งจากประเทศมาเลเซีย มากเป็นอันดับหนึ่ง มีสัดส่วนนำเข้าถึงร้อยละ 33.28 ของปริมาณนำเข้าทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ที่ร้อยละ 7.2
 
ความต้องการโกโก้ และสถานการณ์ตลาด
ความต้องการโกโก้ และสถานการณ์ตลาด
ความต้องการโกโก้ และสถานการณ์ตลาด
ความต้องการโกโก้ และสถานการณ์ตลาด
ความต้องการโกโก้ และสถานการณ์ตลาด